การหย่าโดยความยินยอม

สร้างเมื่อ : วันที่ 17/05/2020

การหย่าโดยความยินยอม
การหย่า คือ เป็นการกระทำเพื่อสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการสมรสที่ทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จริงไหมครับที่คนเราตอนรักกันใหม่ๆไม่ว่ามีอุปสรรคมาขัดขวางแค่ไหนหรือด้วยเหตุผลอะไรก็จะแต่งงานกันให้ได้   การหย่าก็เช่นกันแต่มันเป็นผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม สาเหตุของการหย่า ส่วนใหญ่เกิดจากการนอกใจ  ความไม่เท่าเทียมในเรื่องของความต้องการทางเพศ ความไม่พอใจหรือการโกรธเคืองคู่รักของคุณ และความเสื่อมสลายในความสัมพันธ์รัก   ความแตกต่างที่ทำให้ไม่สามารถเข้ากันไม่ได้นั้น จึงมักถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการหย่าร้าง  โดยเฉพาะคู่รักที่แต่งงานกันเร็วจนเกินไป บางครั้งในที่สุดพวกเขาก็พบว่าคู่รักของเขาหรือเธอนั้น ไม่ใช่คนที่เขาหรือเธอรู้จักอีกต่อไป แต่บางครั้งมันกลับสายไปแล้ว ความแตกต่างในเรื่องของรูปแบบการเป็นพ่อหรือแม่ การใช้ชีวิต สามารถทำให้เกิดความตึงเครียดและไม่เข้าใจกันในชีวิตแต่งงานได้ เมื่อมีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคนปัญหาก็จะตามมาอีกมากมาย 

 

คู่สมรสที่ต้องการจะหย่าขาดจากกันสามารถตกลงและจัดทำกันเองตามที่คู่สัญญาเห็นพ้องต้องกันโดยเมื่อจัดทำเสร็จแล้วก็สามารถนำไปจดทะเบียนหย่าได้ที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสถานกงสุลที่มีอำนาจรับจดทะเบียนหย่านั้นได้เลย ซึ่งจะไม่ผ่านกระบวนการทางศาลทำให้ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการหย่าได้


บันทึกข้อตกลงการหย่าหรือสัญญาหย่าโดยความยินยอม เป็นสัญญาประเภทหนึ่งโดยที่มีคู่สมรสซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันนั้นเป็นคู่สัญญาอันได้แก่ สามีเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งและภรรยาเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าขึ้นเพื่อให้การสมรสของทั้งสองคนยุติหรือสิ้นสุดลง โดยในสัญญาดังกล่าวยังอาจกำหนดผลเมื่อสิ้นสุดการสมรสเอาไว้ด้วยก็ได้ เช่น การแบ่งสิทธิและความรับผิดชอบในสินสมรสไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สิน อำนาจปกครองบุตร (ถ้ามี) หน้าที่การค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและ/หรือคู่สมรส หรือข้อตกลงอื่นๆ เป็นต้น

โดยทั่วไปการหย่าสามารถทำได้สองแบบ คือ
(1) ด้วยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย โดยการทำแบบบันทึกข้อตกลงการหย่าฉบับนี้และนำไปจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียน และ
(2) ด้วยคำพิพากษาของศาลหรือที่มักเรียกว่าฟ้องหย่า
อย่างไรก็ดี บันทึกข้อตกลงการหย่าคู่สัญญาต้องยินยอมและเห็นพ้องตรงกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความต้องการจะหย่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับกับเงื่อนไขที่อีกฝ่ายต้องการได้ หรือคู่สัญญาไม่อยู่ในสถานะความสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อ พูดคุย หรือเจรจากันได้แล้ว คู่สัญญาอาจเลือกใช้การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลก็ได้

การทำบันทึกข้อตกลงการหย่ามีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้
เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้องแก่นายทะเบียนผู้จดทะเบียนหย่าตามบันทึกข้อตกลงการหย่า และเพื่อไม่ให้เสียเวลา ในบันทึกข้อตกลงการหย่า ควรอ้างอิงการจดทะเบียนสมรสที่คู่สัญญาต้องการจะหย่าด้วย เช่น เขตที่มีการจดทะเบียน เลขที่ทะเบียนกำหนดข้อตกลงสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับผลหลังจากการหย่า เช่นผลเกี่ยวกับสินสมรส ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินสด หรือสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ ว่าจะให้ตกเป็นของใคร โดยรวมถึงหนี้สินต่างๆ ด้วย เช่น หนี้บัตรเครดิต ค่างวดบ้านที่ซื้อร่วมกัน ผู้ใดจะรับผิดชอบ เท่าใด และอย่างไร

ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรร่วมกัน ควรจะตกลงเกี่ยวกับสิทธิการเลี้ยงดูและสิทธิการใช้อำนาจปกครองบุตรว่าจะให้ตกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาดหรือร่วมกันปกครองบุตร ซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วย (ถ้ามี) หน้าที่การอุปการะเลี้ยงดูบุตรของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย สิทธิการเยี่ยมเยือนบุตรหรือการนำบุตรไปจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะพาบุตรไปเที่ยวต่างจังหวัดโดยไม่มีคู่สัญญาอีกฝ่าย ทั้งนี้ คู่สัญญาควรคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อบุตรเป็นสำคัญ อนึ่ง บุตรที่บิดามารดายังคงต้องปกครองดูแลอยู่ได้แก่ (1) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และ (2) บุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ เช่น ผู้พิการทางร่างกายหรือสมอง ไม่ว่าจะอายุเท่าใดกำหนดข้อตกลงอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ค่าเลี้ยงดูคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง บทลงโทษกรณีที่คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการหย่า

เมื่อคู่สัญญาตรวจสอบและยอมรับเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ให้จัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนลงนามในบันทึกข้อตกลงการหย่าด้วย ทั้งนี้ จะต้องนำบันทึกข้อตกลงการหย่านั้นไปจดทะเบียนหย่ากับนายทะเบียนด้วย เนื่องจากตามกฎหมายครอบครัวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่าจะมีผลเมื่อได้จดทะเบียนการหย่านั้นตามกฎหมาย