การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ลูกจ้างตอกบัตรแทนกันเพื่อความสะดวกในการไปพบลูกค้าไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
เรื่อง ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขาย ให้พนักงานอื่นตอกบัตรเข้า –ออกแทน เพื่อความสะดวก ในการไปพบลูกค้าโดยไม่เข้ามาบริษัทเท่านั้น ไม่เป็นทุจริตต่อหน้าที่แต่นายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ทั้งที่พนักงานคนอื่นก็กระทำเช่นเดียวกันแต่ถูกลงโทษด้วยการออกหนังสือเตือนและไม่ปรับเงินเดือนขึ้น เป็นเวลา ๖ เดือนเท่านั้น การลงโทษที่แตกต่างกันในกรณีเช่นนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายจาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงาน ขาย ค่าจ้างเดือนละ ๖๓,๔๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างทำงานไม่น่าพอใจ และฝ่าฝืนข้อบังคับ ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าคอมมิชชั่นการขาย ค่าจ้าง เนื่องจากไม่ใช้สิทธิลาพักร้อน เงินทดรองจ่าย ค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้าง พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลย ออกหนังสือรับรองการทำงานโดยระบุว่าโจทก์ออกจากงานโดยมิได้กระทำผิด และออกหนังสือลบล้าง หนังสือเลิกจ้างโจทก์กับประกาศหนังสือพิมพ์ให้บุคคลทั่วไปทราบเป็นเวลา ๗ วัน ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าจ้างเนื่องจากไม่ใช้สิทธิลาพักร้อน เงินทดรองจ่าย และโจทก์ได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ศาลแรงงานกลาง พิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๔๓,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ประเด็นว่า การที่โจทก์มอบหมายหรือยินยอมให้เพื่อร่วมงานใช้บัตรพนักงานโจทก์ตอกบัตรเวลาเข้า – ออก จากงานแทนโจทก์เป็นการทุจริตและฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีร้ายแรงหรือไม่
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เห็นว่า การที่โจทก์ให้เพื่อน ร่วมงานใช้บัตรพนักงานของโจทก์ทำการตอกบัตรเวลาเข้า-ออกงาน แทนโจทก์นั้นก็เพื่อความสะดวกในการไปพบลูกค้าโดยไม่เข้ามาบริษัทจำเลย แม้จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ให้พนักงานต้องตอกบัตรเวลาเข้า-ออกงาน แต่การกระทำของโจทก์ มิได้ถึงขนาดทุจริตต่อหน้าที่หรือมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต กรณีจึงมิใช่การฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง นอกจากนี้ยังฟังว่าพนักงานคนอื่นมอบหมายให้เพื่อนร่วมงานตอกบัตรแทนเช่นเดียวกับโจทก์ แต่พนักงาน ดังกล่าวถูกลงโทษด้วยการออกหนังสือเตือนและไม่ปรับเงินเดือนขึ้นเป็นเวลา ๖ เดือนเท่านั้น ต่างจากโจทก์ที่ ลงโทษด้วยการเลิกจ้าง การลงโทษของจำเลยที่แตกต่างกันในข้อเท็จจริงของคดีที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ การทำงานที่เหมือนกันเช่นนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานของจำเลยโดยไม่เท่าเทียมกัน และเป็น การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ พิพากษายืน
อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ ๔๗๑๑/๒๕๖๑