แนววินิจฉัยคดีเช่าซื้อของศาลฎีกา

สร้างเมื่อ : วันที่ 10/11/2020

แนววินิจฉัยคดีเช่าซื้อ ของศาลฎีกา

    ๑. โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องว่าจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้โดยแนบสัญญาเช่าซื้อมาท้ายฟ้อง ทางพิจารณาฟังได้ว่ารถที่เช่าซื้อสูญหายศาลกำหนดค่าเสียหายโดยอาศัยข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยผู้เช่าซื้อกรณีรถที่เช่าซื้อสูญหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น (ฎ.๑๔๕๗๘/๒๕๕๗)

    ๒. การกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อกรณีรถที่เช่าซื้อสูญหาย แบ่งเป็นกรณีรถสูญหายเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อและกรณีรถสูญหายไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ

            ๒.๑ กรณีรถสูญหายเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ กำหนดค่าเสียหายโดยคิดจากราคารถที่แท้จริง หักด้วยราคารถที่ชำระไปแล้ว โดยไม่กำหนดส่วนที่เป็นเงินผลประโยชน์ให้ (มติที่ประชุมแผนกครั้งที่ ๖/๒๕๕๗)

            ๒.๒ กรณีรถสูญหายไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ กำหนดค่าเสียหายโดยคิดจากผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องขาดหายไปจากการที่รถที่เช่าซื้อสูญหายเท่านั้น ไม่นำเงินลงทุนหรือราคารถมารวมคำนวณด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ให้เช่าซื้อที่จะนำสืบค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าติดตามทวงถาม ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อนำสืบได้ ศาลก็จะกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ (ฎ.๑๔๕๗๘/๒๕๕๗)

    ๓. ข้อสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อโดยแบ่งความรับผิดของผู้ให้เช่าซื้อออกเป็นแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๔(๔) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๕ ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศดังกล่าวออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ มิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม(ฎ.๑๔๕๗๘/๒๕๕๗)

    ๔. โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการขายรถแล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้อและค่าขาดประโยชน์ เป็นกรณีเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้ออันเป็นผลมาจากการเลิกสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐ ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา ๑๙๓/๑๒ ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ (ฎ.๒๗๔๒/๒๕๕๖)

    ๕. แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยผิดนัด การที่ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา จำเลยผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้ออาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่เมื่อต่อมาผู้ให้เช่าซื้อติดตามรถกลับคืนมา โดยผู้เช่าซื้อไม่โต้แย้งคัดค้าน จึงรับฟังได้ว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง การที่จำเลยใช้รถที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อจำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา ๓๙๑ วรรคสาม พร้อมดอกเบี้ย ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเรื่องใดได้บ้างหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๒(๕) (ฎ.๒๗๔๒/๒๕๕๖)

    ๖. ขณะที่โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญา จำเลยผู้เช่าซื้อยังผิดนัดไม่ครบจำนวนงวดที่โจทก์จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อได้ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ส่วนจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนโจทก์ก็ไม่ถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕๗๓ เพราะจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนนำรถที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยนำรถไปส่งมอบคืนและโจทก์นำรถออกประมูลขายถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันอันเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อกันเพราะเหตุอื่นคือสมัครใจเลิกสัญญา กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง โจทก์เรียกค่าขาดราคาไม่ได้ (ฎ.๒๓๒๙/๒๕๕๘)

    ๗. โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อขอให้บังคับตามสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยส่งคืนรถ เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อ และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐ (มติที่ประชุมแผนกครั้งที่ ๔๔/๒๕๕๗, ฎ.๑๘๑๑๕/๒๕๕๗)

 

ที่มา ศาลฎีกา